Accessibility Tools

ศาลแขวงขอนแก่น
Khon Kaen Kwaeng Court

เกี่ยวกับกลุ่มงาน
image

ศาลแขวงขอนแก่น

กลุ่มงานเจ้าพนักงานคดีimage

กลุ่มงานเจ้าพนักงานคดี


  • คดีผู้บริโภค

คดีผู้บริโภค คือ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 มาตรา 3 คดีผู้บริโภค คือ 

  1. คดีแพ่ง ระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภค กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
  2. คดีแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัย (PL law)
  3. คดีเกี่ยวพัน ข้อ 1 และข้อ 2
  4. คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

ผู้บริโภค หมายความว่า ผู้บริโภคตามความหมายกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและหมายความถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้ได้มาไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือประโยชน์อื่นหรือเป็นผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งได้รับการเสนอหรือชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือบริการ รวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือบริการโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

ผู้ได้รับบริการ  หมายความว่า  ผู้ได้รับการจัดการงานให้  ผู้ได้รับสิทธิใด ๆ  ได้ใช้หรือได้ประโยชน์จากทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเสียค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์  แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงาน ตามกฎหมายแรงงาน

ผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภค  ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิ (ตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยฯ)  สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง

ผู้ประกอบธุรกิจ  หมายความว่า  ผู้ประกอบธุรกิจตามความหมายกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค  และหมายความถึงผู้ประกอบการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายต่อผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า ผู้ให้เช่า  ผู้ให้เช่าซื้อ  หรือ ผู้ให้บริการ รับจัดการงานให้ (จ้างทำของ)  ให้สิทธิ ให้ใช้ ให้ได้รับประโยชน์  โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น รวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณา

ผู้ประกอบการ  (พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย) หมายความว่า ผู้ผลิต  ผู้ว่าจ้างให้ผลิต  ผู้นำเข้า  ผู้ขายสินค้า  ผู้ซึ่งใช้ซื่อทางการค้า

บุคคลธรรมดา ก็เป็นผู้ประกอบธุรกิจได้ หากทำเป็นอาชีพหรือทำในทางการค้าเป็นปกติธุระโดยได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทน  เช่น บุคคลธรรมดาให้กู้ยืมหลายรายโดยเรียกดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน  หรือ  ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือต่อเติมบ้าน หรือ  ผู้รับจ้างซื้อรถ หรือบุคคลธรรมดาขายออนไลน์ก็เป็นผู้ประกอบธุรกิจได้  ตามคำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์ 


  • การฟ้องคดีผู้บริโภค

การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดย

  1. ผู้บริโภคจะฟ้องคดีหรือเป็นหนังสือหรือฟ้องด้วยวาจา โดยเจ้าพนักงานคดีประจำศาลช่วยเหลือก็ได้
  2. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  มูลนิธิ (ตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยฯ)  สมาคม  ที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง
  3. ทนายความ

  • การพิจารณาคดีผู้บริโภค

การพิจารณาคดีผู้บริโภคดำเนินคดีด้วยความรวดเร็ว ประหยัด มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 

  1. เขตอำนาจศาล  ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคได้ที่ศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จะฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ที่พิพาท หรือ ทรัพย์จำนองตั้งอยู่ก็ตามอยู่ในเขตอำนาจไม่ได้  ส่วนกรณีที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ  ผู้บริโภคสามารถเลือกฟ้องได้ คือ ภูมิลำเนาบุคคล  มูลคดีเกิด  ที่ตั้งทรัพย์   ฯลฯ 
  2. การนัดพิจารณา ภายใน 30 วันนับแต่รับคำฟ้อง  นัดแรกเป็นนัดไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในนัดเดียวกัน
  3. การเลื่อนคดี ระหว่างไกล่เกลี่ย เลื่อนคดีได้ไม่เกิน 3 ครั้งๆ ละไม่เกิน 7 วัน การสืบพยานหากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนคดีได้ไม่เกิน 15 วัน  ม.35
  4. การไกล่เกลี่ย  ในวันนัดพิจารณา  หากคู่ความมาทั้งสองมาศาลให้เจ้าพนักงานคดีหรือบุคคลที่ศาลกำหนด หรือบุคคลที่คู่ความตกลงกัน  ทำการไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันได้ก็จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง  กรณีที่ตกลงกันไม่ได้และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ  ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีจัดทำคำให้การและบัญชีระบุพยานให้จำเลย เมื่อไกล่เกลี่ยสำเร็จ ถอนฟ้อง ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ  หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ  รายงานส่งคดีกลับคืนสู่การพิจารณาของศาล  กำหนดสืบพยานโจทก์- จำเลย และมีคำพิพากษาของศาลต่อไป 
  5. ไม่เสียค่าใช้จ่ายและประหยัด  ค่าฤชาธรรมเนียมศาล  ผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด เว้นแต่ผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควรหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็นหรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร  ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน  หากไม่ปฏิบัติตาม  ศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้  แต่ถ้าถ้าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลทั้งปวง จะไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม การดำเนินคดีผู้บริโภคไม่จำต้องมีทนายความในการดำเนินคดี  โดยผู้บริโภคสามารถมาปรึกษาคดีต่อเจ้าพนักงานคดีประจำศาลได้ บันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้อง บันทึกถ้อยคำพยาน ช่วยตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน แสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐาน และกรณีผู้บริโภคเป็นจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดี  ช่วยเหลือในการจัดทำคำให้การ  ไกล่เกลี่ย  คดีผู้บริโภคจะมีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริโภคและประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยความสะดวก รวดเร็วและธรรม ประยัดไม่เสียค่าใช้จ่ายและเจ้าพนักงานคดียังช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีผู้บริโภค รวดเร็ว ประหยัด มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
  6. การพิจารณาคดีแบบไต่สวนหรือกึ่งไต่สวน ไม่เป็นทางการไม่เคร่งครัดแบบวิธีพิจารณาตามปกติ  กล่าวคือ  ศาลจะทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง  การสืบพยาน  ไม่ว่าจะเป็นพยานของฝ่ายใดหรือที่ศาลเรียกมาเอง  ให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยาน  คู่ความหรือทนายความจะซักถามได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ให้ศาลทำหน้าที่ไต่สวนค้นคว้าหาความจริง โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็น ผู้ช่วยเหลือ แต่ถ้าระบบปกติคือระบบกล่าวหาเป็นหน้าที่ของคู่ความต้องนำสืบและหักล้างด้วยพยานหลักฐาน  ผู้ใดกล่าวอ้างนั้น  มีหน้าที่นำสืบ ป.วิ.พ 84,84/1  และวิ.ผบ. ม.34
  7. คดีความมีความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว ไม่เป็นทางการและมีความยืดหยุ่นพอสมควร ลดการใช้​อาศัยเทคนิคทางกฎหมาย​ เพื่อมิให้เอาชนะกันด้วยเทคนิคทางกฎหมายต่ออีกฝ่าย การดำเนินการตามกระบวนพิจารณาในคดีผู้บริโภค​ กำหนดให้มีลักษณะที่ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบพิธีการดังเช่นคดีแพ่งโดยทั่วไป เรื่องดังกล่าว​แตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปหลายประการ​ เนื่องจากคู่ความอยู่ในฐานะที่แตกต่างกัน​ จึงอาจได้เปรียบหรือเสียเปรียบได้  นัดแรกจะเป็นนัดไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในนัดเดียวกัน จำเลยยังไม่ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน  ต่างจากคดีแพ่งสามัญนัดแรกนัดชี้สองสถาน หมายเรียกให้จำเลยยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน หากไม่ยื่น  โจทก์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาชี้ขาดคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.พ.ม.197-198 
  8. ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ   กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า  การบริการใดๆ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพราะถือว่าอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบธุรกิจ

  • การอุทธรณ์
  1. การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภค ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
  2. ในคดีผู้บริโภคที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์เห็นว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์  ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง เพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคไปพร้อมกับอุทธรณ์ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนก
  3. คดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้ดำเนินการต่อไป ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้วจะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้
  4. คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด

  • การฎีกา
  1. คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือในปัญหาข้อกฎหมาย ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค
  2. การยื่นคำร้องให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น แล้วให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยในคดีที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคไม่ถูกต้องไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยแต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายและยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลชั้นต้น แล้วมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลชั้นต้นแล้วแต่กรณี ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ได้

ตัวอย่างคดี

  • ผู้บริโภคฟ้อง 
  1. ผิดสัญญาซื้อขาย  สังหาริมทรัพย์  อสังหาริมทรัพย์  ไม่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาผ่อนครบไม่โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน  ไม่จัดทำสาธารณูปโภค ไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่องให้ใช้ทะเบียนปลอม ไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่อง  ยึดสินค้ากลับคืนไปโดยไม่ชอบ 
  2. เช่าซื้อ รถผ่อนครบไม่โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน  ไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ให้ใช้ทะเบียนปลอม ไม่ได้ผิดนัดยึดรถกลับคืนไปโดยไม่ชอบ 
  3. ละเมิดอันเกิดจากการเข้ารับบริการที่เกี่ยวกับสาธารณสุขหรือเสริมความงาม คลินิก โรงพยาบาล ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน หากเรียกค่ารักษา ค่ายา  ค่าบริการใดๆ  
  4. ผิดสัญญาประกันภัย  ฟ้องกันระหว่างผู้เอาประกันภัย  ผู้รับประกันภัย ผู้รับประโยชน์ ไม่รวมถึงผู้รับช่วงสิทธิ
  5. ผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยฟ้องผู้รับเหมาก่อสร้าง
  6. นักศึกษามหาวิทยาลัยฟ้องมหาวิทยาลัยฯ ทั้งของรัฐ หรือ เอกชน เรียกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน ตลอดจนค่าเสียหายอื่นจากการเข้ารับบริการจากจำเลย  หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือผิดสัญญาไม่สามารถเปิดสอนหลักสูตรตามฟ้องได้  
  • ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้อง 
  1. ธนาคาร   สหกรณ์  กองทุนต่างๆ  ฟ้องลูกค้าให้ชำระหนี้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน  จำนอง  จำนำ บัญชีเดินสะพัด  ตั๋วเงิน ทรัสต์รีซีท  บัตรเครดิต  บัตรเงินสด  สินเชื่อส่วนบุคคล
  2. ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม  ฟ้องลูกหนี้ให้รับผิดตามสัญญา เช่า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต
  3. ผู้ประกอบธุรกิจสาธารณูปโภค  ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้า  ค่าประปา
  4. ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรับจัดไฟแนนท์ ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญา
  5. ผู้ให้เช่าโรงแรม  อพาทต์เมนต์  บ้านเช่า ฟ้องเรียกค่าเช่าจากผู้เช่า
  6. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันหรือทายาท
  • เป็นคดีผู้บริโภค
  1. ขาย เช่น บ้าน อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ที่ดิน สินค้าอุปโภคบริโภค
  2. คดีเช่าทรัพย์ เช่น บ้าน ห้องชุด หอพัก
  3. คดีเช่าซื้อ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
  4. คดีจ้างทำของ เช่น ก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ซ่อมบ้าน
  5. คดีรับขน เช่น บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางน้ำหรือทางบก
  6. คดีสินเชื่อส่วนบุคคล กู้ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
  7. คดีบัตรเครดิต
  8. คดีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ)
  9. คดีประกันภัย เช่น ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต
  10. คดีสินค้าไม่ปลอดภัย เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ยานพาหนะเครื่องใช้ไฟฟ้า                                      
  11. โทรศัพท์มือถือ
  12. คดีบริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม  
  13. คดีบริการสาธารณสุขและความงาม เช่น สถานบริการความงามและสุขภาพ
  14. คดีสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต
  15. คดีบริการธุรกรรมทางธนาคาร เช่น ฝากเงิน ถอนเงิน
  16. คดีบริการด้านการศึกษา เช่น สถาบันสอนภาษาหรือโรงเรียนกวดวิชา
  17. ด้านการกีฬา เช่น ให้เช่าสนามฟุตบอล สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ ฟิสเนส
  18. คดีนิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลบ้านจัดสรร
  • ไม่เป็นคดีผู้บริโภค
  1. ผู้ประกอบธุรกิจขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างฟ้องผู้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างไป เพื่อขายต่อ หรือทั้งใช้ทั้งขาย หรือซื้อไปใช้รับเหมาต่อ
  2. ซื้อสินค้าหรือสิ่งที่ได้รับบริการไปใช้เป็นวัตถุดิบ ผลิตสินค้าหรือบริการ เช่นใช้เป็นส่วนผสมส่วนประกอบของสินค้า นำไปขายหรือให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง ไม่ถือว่าซื้อมาเพื่อใช้สอยเอง
  3. ผู้เช่าซื้อ เช่าทรัพย์  เพื่อนำไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อ  นำไปรับส่งผู้โดยสาร หรือนำไปให้บริการแก่ลูกค้ารับส่ง นำไปใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้า หรือผู้เช่าซื้อเครื่องจักรไปใช้ในการผลิตสินค้าแล้วนำออกขาย ฟ้องผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่า
  4. จ้างทำของ  ผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านให้เช่า อพาทต์เมนต์  หรือ อาคารให้เช่า           ฟ้องผู้รับเหมาก่อสร้าง
  5. ส่วนราชการที่ให้กู้ยืมเงิน  โดยไม่เรียกดอกเบี้ย แต่จะเรียกดอกเบี้ยต่อเมื่อผู้กู้ผิดนัดเท่านั้นแสดงว่าไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาประโยชน์ในทางการค้า ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ
  6.  คดีอาญา
  7. คดีละเมิดทั่วไปซึ่งไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
  8. คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
  9. คดีครอบครัว คดีมรดก
  10. คดีของศาลชำนัญพิเศษหรือศาลแรงงาน ศาลภาษี ศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
  11. คดีแพ่งทั่วไปที่พิพาทกันระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจพิพาทกันเอง เป็นต้น