
ศาลแขวงขอนแก่น
กลุ่มงานเจ้าพนักงานคดี
- คดีผู้บริโภค
คดีผู้บริโภค คือ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค 2551 มาตรา 3 คดีผู้บริโภค คือ
- คดีแพ่ง ระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภค กับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
- คดีแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัย (PL law)
- คดีเกี่ยวพัน ข้อ 1 และข้อ 2
- คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้ พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
ผู้บริโภค หมายความว่า ผู้บริโภคตามความหมายกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและหมายความถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้ได้มาไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือประโยชน์อื่นหรือเป็นผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งได้รับการเสนอหรือชักชวนให้ซื้อสินค้าหรือบริการ รวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือบริการโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม
ผู้ได้รับบริการ หมายความว่า ผู้ได้รับการจัดการงานให้ ผู้ได้รับสิทธิใด ๆ ได้ใช้หรือได้ประโยชน์จากทรัพย์สินหรือกิจการใด ๆ โดยเสียค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์ แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงาน ตามกฎหมายแรงงาน
ผู้มีอำนาจฟ้องแทนผู้บริโภค ได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิ (ตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยฯ) สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง
ผู้ประกอบธุรกิจ หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามความหมายกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และหมายความถึงผู้ประกอบการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายต่อผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า ผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าซื้อ หรือ ผู้ให้บริการ รับจัดการงานให้ (จ้างทำของ) ให้สิทธิ ให้ใช้ ให้ได้รับประโยชน์ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น รวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณา
ผู้ประกอบการ (พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย) หมายความว่า ผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขายสินค้า ผู้ซึ่งใช้ซื่อทางการค้า
บุคคลธรรมดา ก็เป็นผู้ประกอบธุรกิจได้ หากทำเป็นอาชีพหรือทำในทางการค้าเป็นปกติธุระโดยได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทน เช่น บุคคลธรรมดาให้กู้ยืมหลายรายโดยเรียกดอกเบี้ยเป็นการตอบแทน หรือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือต่อเติมบ้าน หรือ ผู้รับจ้างซื้อรถ หรือบุคคลธรรมดาขายออนไลน์ก็เป็นผู้ประกอบธุรกิจได้ ตามคำวินิจฉัยประธานศาลอุทธรณ์
- การฟ้องคดีผู้บริโภค
การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินการได้โดย
- ผู้บริโภคจะฟ้องคดีหรือเป็นหนังสือหรือฟ้องด้วยวาจา โดยเจ้าพนักงานคดีประจำศาลช่วยเหลือก็ได้
- คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิ (ตาม พรบ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยฯ) สมาคม ที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง
- ทนายความ
- การพิจารณาคดีผู้บริโภค
การพิจารณาคดีผู้บริโภคดำเนินคดีด้วยความรวดเร็ว ประหยัด มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
- เขตอำนาจศาล ผู้ประกอบธุรกิจฟ้องผู้บริโภคได้ที่ศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จะฟ้องต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ที่พิพาท หรือ ทรัพย์จำนองตั้งอยู่ก็ตามอยู่ในเขตอำนาจไม่ได้ ส่วนกรณีที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคสามารถเลือกฟ้องได้ คือ ภูมิลำเนาบุคคล มูลคดีเกิด ที่ตั้งทรัพย์ ฯลฯ
- การนัดพิจารณา ภายใน 30 วันนับแต่รับคำฟ้อง นัดแรกเป็นนัดไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในนัดเดียวกัน
- การเลื่อนคดี ระหว่างไกล่เกลี่ย เลื่อนคดีได้ไม่เกิน 3 ครั้งๆ ละไม่เกิน 7 วัน การสืบพยานหากมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนคดีได้ไม่เกิน 15 วัน ม.35
- การไกล่เกลี่ย ในวันนัดพิจารณา หากคู่ความมาทั้งสองมาศาลให้เจ้าพนักงานคดีหรือบุคคลที่ศาลกำหนด หรือบุคคลที่คู่ความตกลงกัน ทำการไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันได้ก็จัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือถอนฟ้อง กรณีที่ตกลงกันไม่ได้และจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีจัดทำคำให้การและบัญชีระบุพยานให้จำเลย เมื่อไกล่เกลี่ยสำเร็จ ถอนฟ้อง ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ รายงานส่งคดีกลับคืนสู่การพิจารณาของศาล กำหนดสืบพยานโจทก์- จำเลย และมีคำพิพากษาของศาลต่อไป
- ไม่เสียค่าใช้จ่ายและประหยัด ค่าฤชาธรรมเนียมศาล ผู้บริโภคได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงตั้งแต่ยื่นฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด เว้นแต่ผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือเรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควรหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยหรือดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็นหรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หากไม่ปฏิบัติตาม ศาลอาจมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ แต่ถ้าถ้าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลทั้งปวง จะไม่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม การดำเนินคดีผู้บริโภคไม่จำต้องมีทนายความในการดำเนินคดี โดยผู้บริโภคสามารถมาปรึกษาคดีต่อเจ้าพนักงานคดีประจำศาลได้ บันทึกรายละเอียดแห่งคำฟ้อง บันทึกถ้อยคำพยาน ช่วยตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐาน แสวงหาข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐาน และกรณีผู้บริโภคเป็นจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดี ช่วยเหลือในการจัดทำคำให้การ ไกล่เกลี่ย คดีผู้บริโภคจะมีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บริโภคและประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยความสะดวก รวดเร็วและธรรม ประยัดไม่เสียค่าใช้จ่ายและเจ้าพนักงานคดียังช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีผู้บริโภค รวดเร็ว ประหยัด มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
- การพิจารณาคดีแบบไต่สวนหรือกึ่งไต่สวน ไม่เป็นทางการไม่เคร่งครัดแบบวิธีพิจารณาตามปกติ กล่าวคือ ศาลจะทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริง การสืบพยาน ไม่ว่าจะเป็นพยานของฝ่ายใดหรือที่ศาลเรียกมาเอง ให้ศาลเป็นผู้ซักถามพยาน คู่ความหรือทนายความจะซักถามได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล ให้ศาลทำหน้าที่ไต่สวนค้นคว้าหาความจริง โดยมีเจ้าพนักงานคดีเป็น ผู้ช่วยเหลือ แต่ถ้าระบบปกติคือระบบกล่าวหาเป็นหน้าที่ของคู่ความต้องนำสืบและหักล้างด้วยพยานหลักฐาน ผู้ใดกล่าวอ้างนั้น มีหน้าที่นำสืบ ป.วิ.พ 84,84/1 และวิ.ผบ. ม.34
- คดีความมีความสะดวก ประหยัด รวดเร็ว ไม่เป็นทางการ และมีความยืดหยุ่นพอสมควร ลดการใช้อาศัยเทคนิคทางกฎหมาย เพื่อมิให้เอาชนะกันด้วยเทคนิคทางกฎหมายต่ออีกฝ่าย การดำเนินการตามกระบวนพิจารณาในคดีผู้บริโภค กำหนดให้มีลักษณะที่ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบพิธีการดังเช่นคดีแพ่งโดยทั่วไป เรื่องดังกล่าวแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไปหลายประการ เนื่องจากคู่ความอยู่ในฐานะที่แตกต่างกัน จึงอาจได้เปรียบหรือเสียเปรียบได้ นัดแรกจะเป็นนัดไกล่เกลี่ยให้การและสืบพยานในนัดเดียวกัน จำเลยยังไม่ต้องยื่นคำให้การภายใน 15 วัน ต่างจากคดีแพ่งสามัญนัดแรกนัดชี้สองสถาน หมายเรียกให้จำเลยยื่นคำให้การต่อศาลภายใน 15 วัน หากไม่ยื่น โจทก์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาชี้ขาดคดีโดยขาดนัด ตาม ป.วิ.พ.ม.197-198
- ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับการผลิต การประกอบ การออกแบบ หรือส่วนผสมของสินค้า การบริการใดๆ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ผู้ประกอบธุรกิจเพราะถือว่าอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบธุรกิจ
- การอุทธรณ์
- การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภค ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น
- ในคดีผู้บริโภคที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ในกรณีที่ผู้อุทธรณ์เห็นว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง เพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคไปพร้อมกับอุทธรณ์ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์แล้วเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามก็ให้ส่งอุทธรณ์และคำขอดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนก
- คดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคเพื่อพิจารณา แต่ถ้าศาลชั้นต้นเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องห้ามก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้ดำเนินการต่อไป ในกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์เพราะเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องเพื่อขออนุญาตอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก็ได้ ถ้าคู่ความยื่นคำขอดังกล่าวแล้วจะอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ไม่ได้
- คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด
- การฎีกา
- คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือในปัญหาข้อกฎหมาย ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค
- การยื่นคำร้องให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น แล้วให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาได้เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัยในคดีที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคไม่ถูกต้องไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ศาลฎีกาจะมีคำวินิจฉัยแต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายและยกคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลชั้นต้น แล้วมีคำสั่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลชั้นต้นแล้วแต่กรณี ทำคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ภายใต้กรอบคำวินิจฉัยของศาลฎีกาก็ได้
ตัวอย่างคดี
- ผู้บริโภคฟ้อง
- ผิดสัญญาซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ ไม่ก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาผ่อนครบไม่โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่จัดทำสาธารณูปโภค ไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่องให้ใช้ทะเบียนปลอม ไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ยึดสินค้ากลับคืนไปโดยไม่ชอบ
- เช่าซื้อ รถผ่อนครบไม่โอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียน ไม่รับผิดในความชำรุดบกพร่อง ให้ใช้ทะเบียนปลอม ไม่ได้ผิดนัดยึดรถกลับคืนไปโดยไม่ชอบ
- ละเมิดอันเกิดจากการเข้ารับบริการที่เกี่ยวกับสาธารณสุขหรือเสริมความงาม คลินิก โรงพยาบาล ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชน หากเรียกค่ารักษา ค่ายา ค่าบริการใดๆ
- ผิดสัญญาประกันภัย ฟ้องกันระหว่างผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัย ผู้รับประโยชน์ ไม่รวมถึงผู้รับช่วงสิทธิ
- ผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านที่อยู่อาศัยฟ้องผู้รับเหมาก่อสร้าง
- นักศึกษามหาวิทยาลัยฟ้องมหาวิทยาลัยฯ ทั้งของรัฐ หรือ เอกชน เรียกค่าลงทะเบียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอน ตลอดจนค่าเสียหายอื่นจากการเข้ารับบริการจากจำเลย หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือผิดสัญญาไม่สามารถเปิดสอนหลักสูตรตามฟ้องได้
- ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้อง
- ธนาคาร สหกรณ์ กองทุนต่างๆ ฟ้องลูกค้าให้ชำระหนี้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน จำนอง จำนำ บัญชีเดินสะพัด ตั๋วเงิน ทรัสต์รีซีท บัตรเครดิต บัตรเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล
- ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ฟ้องลูกหนี้ให้รับผิดตามสัญญา เช่า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต
- ผู้ประกอบธุรกิจสาธารณูปโภค ฟ้องเรียกค่าไฟฟ้า ค่าประปา
- ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือรับจัดไฟแนนท์ ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญา
- ผู้ให้เช่าโรงแรม อพาทต์เมนต์ บ้านเช่า ฟ้องเรียกค่าเช่าจากผู้เช่า
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันหรือทายาท
- เป็นคดีผู้บริโภค
- ขาย เช่น บ้าน อาคารพาณิชย์ อาคารชุด ที่ดิน สินค้าอุปโภคบริโภค
- คดีเช่าทรัพย์ เช่น บ้าน ห้องชุด หอพัก
- คดีเช่าซื้อ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
- คดีจ้างทำของ เช่น ก่อสร้างบ้าน ต่อเติมบ้าน ซ่อมบ้าน
- คดีรับขน เช่น บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทางน้ำหรือทางบก
- คดีสินเชื่อส่วนบุคคล กู้ยืม ค้ำประกัน จำนำ จำนอง
- คดีบัตรเครดิต
- คดีกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ)
- คดีประกันภัย เช่น ประกันวินาศภัย ประกันชีวิต
- คดีสินค้าไม่ปลอดภัย เช่น ยา อาหาร เครื่องสำอาง ยานพาหนะเครื่องใช้ไฟฟ้า
- โทรศัพท์มือถือ
- คดีบริการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม
- คดีบริการสาธารณสุขและความงาม เช่น สถานบริการความงามและสุขภาพ
- คดีสื่อสารมวลชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต
- คดีบริการธุรกรรมทางธนาคาร เช่น ฝากเงิน ถอนเงิน
- คดีบริการด้านการศึกษา เช่น สถาบันสอนภาษาหรือโรงเรียนกวดวิชา
- ด้านการกีฬา เช่น ให้เช่าสนามฟุตบอล สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ ฟิสเนส
- คดีนิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลบ้านจัดสรร
- ไม่เป็นคดีผู้บริโภค
- ผู้ประกอบธุรกิจขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างฟ้องผู้ซื้อวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างไป เพื่อขายต่อ หรือทั้งใช้ทั้งขาย หรือซื้อไปใช้รับเหมาต่อ
- ซื้อสินค้าหรือสิ่งที่ได้รับบริการไปใช้เป็นวัตถุดิบ ผลิตสินค้าหรือบริการ เช่นใช้เป็นส่วนผสมส่วนประกอบของสินค้า นำไปขายหรือให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง ไม่ถือว่าซื้อมาเพื่อใช้สอยเอง
- ผู้เช่าซื้อ เช่าทรัพย์ เพื่อนำไปให้บุคคลอื่นเช่าต่อ นำไปรับส่งผู้โดยสาร หรือนำไปให้บริการแก่ลูกค้ารับส่ง นำไปใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้า หรือผู้เช่าซื้อเครื่องจักรไปใช้ในการผลิตสินค้าแล้วนำออกขาย ฟ้องผู้ให้เช่าซื้อ ผู้ให้เช่า
- จ้างทำของ ผู้ว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านให้เช่า อพาทต์เมนต์ หรือ อาคารให้เช่า ฟ้องผู้รับเหมาก่อสร้าง
- ส่วนราชการที่ให้กู้ยืมเงิน โดยไม่เรียกดอกเบี้ย แต่จะเรียกดอกเบี้ยต่อเมื่อผู้กู้ผิดนัดเท่านั้นแสดงว่าไม่มีวัตถุประสงค์แสวงหาประโยชน์ในทางการค้า ไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ
- คดีอาญา
- คดีละเมิดทั่วไปซึ่งไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
- คดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
- คดีครอบครัว คดีมรดก
- คดีของศาลชำนัญพิเศษหรือศาลแรงงาน ศาลภาษี ศาลล้มละลาย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
- คดีแพ่งทั่วไปที่พิพาทกันระหว่างประชาชนกับประชาชนด้วยกันเอง ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้ประกอบธุรกิจหรือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจพิพาทกันเอง เป็นต้น